เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. สุเมธาวรรค] 2. เมขลทายิกาเถริยาปทาน
[18] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[19] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระสุเมธาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุเมธาเถริยาปทานที่ 1 จบ

2. เมขลทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเมขลทายิกาเถรี
(พระเมขลทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[20] หม่อมฉันได้สร้างพระสถูป
เพื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
หม่อมฉันได้ถวายสังวาล1 เพื่อนวกรรมสถูปของพระศาสดา
[21] และเมื่อมหาสถูปสำเร็จแล้ว หม่อมฉันเลื่อมใสต่อพระมุนี
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ได้ถวายสังวาลอีกด้วยมือทั้ง 2 ของตน
[22] ในกัปที่ 94 นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายสังวาลไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสร้างพระสถูป

เชิงอรรถ :
1 สังวาล หมายถึงสายรัดเอวผู้หญิง, เข็มขัดสตรี (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525
น. 818)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :368 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. สุเมธาวรรค] 3. มัณฑปทายิกาเถริยาปทาน
[23] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[24] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[25] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 หม่อมฉันได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระเมขลทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เมขลทายิกาเถริยาปทานที่ 2 จบ

3. มัณฑปทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมัณฑปทายิกาเถรี
(พระมัณฑปทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[26] หม่อมฉันได้ให้นายช่างสร้างมณฑป
ถวายพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ
และได้อุทิศถวายพระสถูปที่ประเสริฐแก่พระพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลกไว้
[27] หม่อมฉันไปยังชนบท นิคม หรือราชธานีใด ๆ
ย่อมได้รับการบูชาในที่นั้น ๆ ทุกแห่ง
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :369 }